การเล่นใน กิจกรรมบำบัดเด็ก

(Play in Pediatric Occupational Therapy)

 

การเล่น เป็นกิจกรรมหนึ่งที่พบได้ในวัยเด็ก เป็นธรรมชาติหนึ่งของเด็กที่ต้องเล่น การเล่นเกิดขึ้นเพื่อที่จะตอบสนองที่จะผ่อนคลายความเครียดทางอารมณ์  เป็นการปลดปล่อยและระบายพลังที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือออกมา

การเล่น เป็นการสร้างและแสดงออกซึ่งจินตนาการ การแก้ไขปัญหาการใช้เหตุผลและความคิด การติดต่อสื่อสาร พัฒนาการทางด้านภาษา ด้านการรับรู้ และทางด้านการเคลื่อนไหวร่างการย การเล่นจึงถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการบำบัดรักษา ส่งเสริมและป้องกันความล่าช้าทางพัฒนาการ การเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา

ประเภทของการเล่นเพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ

  1. การเล่นเพื่อพัฒนาประสาทสัมผัส (Sensory Play) เช่น การใช้นิ้วสำรวจหรือค้นหาวัตถุต่าง ๆ การเล่นในกระบะทราย
  2. การเล่นเพื่อพัฒนาความแข็งแรงของร่างกาย (Physical Play) เช่นการเล่นปีนป่าย การวิ่งไล่จับ การปั่นจักรยาน
  3. การเล่นเชิงสำรวจ (Exploratory Play) การเล่นที่เด็กๆ ได้ใช้ความคิดในการแก้ปัญหา

4. การเล่นเพื่อพัฒนาทักษะสังคม (Social Play) การเล่นช่วยกันสร้างบ้าน

5. การเล่นเพื่อพัฒนาการใช้สัญลักษณ์หรือภาษา (Symbolic Play)  เช่น การเล่นบทบาทสมมติ

โดยนักกิจกรรมบำบัดจะเป็นผู้ชี้ชวนให้เกิดการเล่น และประเมินความสามารถในการเล่นรวมไปถึงวิเคราะห์ปรับเพิ่มหรือลดความยากง่ายของกิจกรรมการเล่นให้มีความท้าทาย หรือให้เหมาะสมกับความสามารถของเด็ก ใช้ทักษะการเล่นบำบัดช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความสบายใจ ผ่อนคลาย พัฒนาอารมณ์ทางบวก เห็นคุณค่าและความสามารถของตนเอง ทำให้มีความมั่นใจ ภาคภูมิใจในตนเองและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ได้รับการเอาใจใส่ และเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ ซึ่งช่วยส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งช่วยให้เด็กได้ค้นหาและพัฒนาศักยภาพในตัวเองได้อย่างเต็มความสามารถ

วรนุช นนทรีย์

นักกิจกรรมบำบัดชำนาญการ