ข้อควรรู้และการปฏิบัติตัวเพื่อรับการฉีดวัคซีนโควิด
( ก่อนเข้ารับบริการ , วันที่เข้ารับการฉีด , หลังฉีดวัคซีน )
*** ก่อนเข้ารับบริการ ***
***วันที่เข้ารับการฉีด***
***หลังฉีดวัคซีน***
ไขข้อข้องใจ
อาการไม่พึงประสงค์ และอาการแพ้
ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวก และ แอสตราเซเนกา
กระทรวงสาธารณสุขพบผู้ติดเชื้อโควิดผับทองหล่อ 24 ราย ติดเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ แพร่เร็วขึ้น 1.7 เท่า ย้ำสงกรานต์ขอความร่วมมือเดินทางเท่าที่จำเป็น และเข้มมาตรการป้องกันโรค แจงปรับระดับสีพื้นที่ จะมีการพิจารณาใหม่ อาจปรับเข้มขึ้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น และเสนอ ศบค.ชุดเล็กพิจารณา
วันนี้ (7 เมษายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 334 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 174 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 153 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย หายป่วยเพิ่ม 121 ราย ไม่มีเสียชีวิต ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 เมษายน 2564 ฉีดแล้ว 323,989 โดส เป็นเข็มแรก 274,354 ราย และเข็มที่สอง 49,635 ราย
ขณะนี้มีการระบาดในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ทั้งพนักงาน นักเที่ยว นักดนตรี ได้กระจายไปหลายจังหวัด ซึ่งพบผู้ป่วยมีเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ ทำให้การติดเชื้อง่ายขึ้น 1.7 เท่า ยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการเดินทางข้ามจังหวัดมากขึ้น หากไม่มีมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่ดี อาจจะเพิ่มผู้ติดเชื้อมากขึ้น 1.3 - 100 เท่า ดังนั้น ความร่วมมือของประชาชนจึงสำคัญมากที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคและต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น ขอให้เดินทางเท่าที่จำเป็น ระหว่างการเดินทางขอให้ป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง เลือกใช้พาหนะส่วนบุคคล สแกนไทยชนะ ปฏิบัติตามคำแนะนำมาตรการของจังหวัดปลายทาง ซึ่งจะมีระบบเฝ้าระวังการติดตามสอบถามผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า จุดเสี่ยงแพร่ระบาดโรคที่เห็นชัดคือ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ มีการเต้นรำ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความแออัด พื้นที่ที่มีการระบาดจำเป็นจะต้องปิด ส่วนร้านอาหารมีความเสี่ยงแตกต่างกัน หากอยู่กลางแจ้ง เว้นระยะห่าง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีความเสี่ยงน้อย แต่หากเป็นสถานที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท คนแออัด ดื่มแอลกอฮอล์ คุยเสียงดัง จะมีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ ข้อเสนอปรับพื้นที่สีแดง 5 จังหวัด ศบค.ชุดเล็กไม่ได้ไม่เห็นชอบ แต่ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 กระทรวงมหาดไทย ร่วมกันพิจารณาประเมินกำหนดพื้นที่ใหม่ตามสถานการณ์เพิ่มเติม ซึ่งจากการประชุมเบื้องต้นเห็นตรงกันว่าจะปรับพื้นที่สีใหม่ ซึ่งอาจต้องปรับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์กระจายเชื้อมีมากขึ้น โดยจะมีมาตรการที่เหมาะสมในสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ และร้านอาหาร และจะเสนอ ศบค.ชุดเล็กใน 1-2 วันนี้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การระบาดช่วงมีนาคม-เมษายน 2563 พบผู้ติดเชื้อประมาณ 3 พันคน เฉลี่ยวันละประมาณหลักสิบราย ส่วนการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ธันวาคม 2563 จนถึงตอนนี้ยังไม่ยุติ และเกิดเหตุการณ์สถานบันเทิงเรียกว่าระลอกซ้อนระลอก มีผู้ติดเชื้อประมาณหลักร้อยราย ตอนแรกสงสัยว่าเกิด Super Spread จากการเป็นสถานที่ปิด มีดนตรีเสียงดัง ร้องเพลงเสียงดัง พูดเสียงดัง โอกาสเชื้อกระจายลอยในอากาศง่าย แต่จากตรวจหาเชื้อพบว่าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการก็มีปริมาณไวรัสในคอสูงมาก เมื่อตรวจสายพันธุ์ผู้ป่วย 24 คน จากผับทองหล่อ เป็นสายพันธุ์อังกฤษที่แพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์ธรรมดา 1.7 เท่า แต่ความรุนแรงไม่เพิ่มขึ้น และไม่กระทบกับประสิทธิภาพของวัคซีน อย่างไรก็ตาม ที่เป็นห่วงคือ ปีนี้จำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าปีที่แล้ว 10 เท่า แต่มาตรการของปีที่แล้ว มีล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว ห้ามขายสุรา เลื่อนสงกรานต์ เข้มกว่ากัน 10 เท่า ดังนั้น เชื้อมีโอกาสแพร่กระจายเพิ่มอีก 100 เท่า เมื่อเป็นสายพันธุ์อังกฤษก็ยิ่งทวีคูณเป็น 170 เท่า ช่วงสงกรานต์ที่มีการเดินทาง คนหนุ่มสาวติดเชื้อส่วนใหญ่อาการน้อย แต่ปริมาณไวรัสมาก หากเดินทางไปรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ อาจนำเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุ ซึ่งโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้สูง
“สงกรานต์ปีนี้ไม่สามารถล็อกอะไรได้ ถ้าเป็นไปได้ ควรลดการเคลื่อนย้ายประชากรให้มากที่สุด แต่หากมีความจำเป็นต้องเดินทางก็ต้องมีมาตรการทุกอย่างให้เคร่งครัด ตั้งแต่เริ่มออกจากบ้าน ขึ้นรถ จนถึงจุดหมายปลายทาง ให้ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดมีระเบียบวินัย เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือ ถ้าทุกคนช่วยกัน เชื่อว่าจะควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ศ.นพ.ยงกล่าว
ศ.นพ.ยงกล่าวต่อว่า วัคซีนโควิด 19 ช่วยลดอาการของโรค ป้องกันการนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้จะฉีดวัคซีนเข็มแรกหรือครบสองเข็มแล้ว ยังติดเชื้อได้ แต่อาการจะรุนแรงน้อยลง ขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นมาของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม เมื่อวัคซีนมีมากเพียงพอขอให้ทุกคนที่ถึงคิวฉีดวัคซีนเข้ารับการฉีดวัคซีนตามกำหนด เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น
********************************* 7 เมษายน 2564
*********************************
กระทรวงสาธารณสุข เผยการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกที่จังหวัดสมุทรสาคร ยอดสะสม 821 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ เร่งคัดกรองเพิ่ม เป้าหมายไม่ต่ำกว่า 10,300 ราย ระบบเฝ้าระวังเชิงรุกกำลังทำงานอย่างเข้มแข็งทุกพื้นที่ ทำให้ตรวจจับได้เร็ว ย้ำประชาชนสวมหน้ากาก 100 เปอร์เซ็นต์ ล้างมือ รักษาระยะห่าง ไม่เข้าสถานที่แออัด ผู้ที่มีประวัติไปตลาดกลางกุ้งขอคำแนะนำได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน
วันนี้ (21 ธันวาคม 2563) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) และนายแพทย์วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 และการติดเชื้อโรคโควิด 19 จ.สมุทรสาคร
นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่ จำนวน 382 ราย เป็นการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 360 ราย ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 14 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกัน 8 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 12 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 5,289 ราย รักษาหายรวม 4,053 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,176 ราย เสียชีวิตรวม 60 ราย
ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศและเข้ากักกัน 8 ราย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 3 ราย สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยูเครน คูเวต และซูดาน ประเทศละ 1 ราย ทั้งหมดเข้ารับการรักษา ส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ มีเพียง 1 รายติดเชื้อมีอาการไข้ ผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 14 ราย ในจำนวนนี้ 12 ราย มีประวัติเชื่อมโยงกับตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร แบ่งเป็นชายไทย 5 ราย หญิงไทย 6 ราย และชายลาว 1 ราย ตรวจหาเชื้อช่วงวันที่ 18-19 ธ.ค. ผลพบเชื้อมีอาการ 8 ราย ได้แก่ เจ็บคอ ไอ น้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และไข้ ไม่มีอาการ 4 ราย ส่วนอีก 2 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 29 ปี ช่างเสริมสวยที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ตรวจหาเชื้อวันที่ 18 ธ.ค. ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ รักษารพ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา และหญิงเมียนมาอายุ 42 ปี อาชีพพนักงานห้าง อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคและประวัติเสี่ยง ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารักษา รพ.แม่สอด จ.ตาก
สำหรับการติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว 360 ราย มากกว่าร้อยละ 90 ไม่มีอาการ และรอผลการตรวจอีก 2,600 กว่าราย นอกจากนี้ จะมีการตรวจเชิงรุกเพิ่มอีก 10,300 ราย ผลการตรวจจะทยอยออกมาเรื่อยๆ ทั้งนี้ การติดเชื้อยังคงสูงอยู่ที่บริเวณตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร อัตราติดเชื้อประมาณร้อยละ 42 วงรอบนอกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6 ส่วนการปิดหอพักเพื่อไม่ให้แรงงานเมียนมานำเชื้อออกมานั้น เนื่องจากส่วนใหญ่ติดเชื้อไม่มีอาการ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ภาครัฐจะจัดส่งอาหารและน้ำดูแล หากมีอาการจะส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ใกล้ หอพักประมาณ 100 เตียง ส่วนผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อถือว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้ออยู่แล้ว จึงให้อยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับประเทศสิงคโปร์
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า สำหรับลูกค้าประจำตลาดกลางกุ้ง 1,000 กว่าราย ได้มีการติดตามทุกคน ส่วนผู้ที่เคยไปตลาดกุ้งตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ขอให้แสดงตัวและไปรับการตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน สำหรับการขนส่งสินค้าออกมาจาก จ.สมุทรสาคร ขอให้บริษัทขนส่งเข้มกระบวนการขนส่งทุกขั้นตอน โดยเฉพาะเรื่องของภาชนะต่าง ๆ ต้องสะอาด เนื่องจากการติดเชื้อมีโอกาสเกิดขึ้นจากการสัมผัส การรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ทั้งนี้ ภาครัฐจะมีการตรวจสอบรถและพนักงานขับรถอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนและเตรียมหลักเกณฑ์ในการล็อกดาวน์พื้นที่ตามความเหมาะสม เน้นย้ำการสวมหน้ากาก 100 เปอร์เซ็นต์ สวมตลอดเวลาเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ และขอให้ช่วยแนะนำคนรอบข้างให้สวมหน้ากากด้วยความหวังดีและความห่วงใยในสุขภาพ
สำหรับสถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อรวม 77,166,774 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 546,756 ราย เสียชีวิต 1,699,497 ราย ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 18,267,579 ราย อินเดีย 10,056,248 ราย บราซิล 7,238,600 ราย รัสเซีย 2,848,377 ราย ฝรั่งเศส 2,473,354 ราย
ด้านนายแพทย์วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กล่าวว่า ความคืบหน้าผู้ติดเชื้อโควิด 19 จ.สมุทรสาคร ณ 21 ธันวาคม 2563 ผู้ป่วยสะสมขณะนี้อยู่ที่ 821 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่มาตรวจในโรงพยาบาลและติดตามผู้สัมผัส 33 ราย และการค้นหาในชุมชนส่งตรวจทั้งหมด 4,688 ราย ผลออกแล้ว 1,861 ราย ให้ผลบวกสะสม 788 ราย
จากแผนที่การระบาด และการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นค่อนข้างแน่ชัดว่าจุดตั้งต้นอยู่ที่ตลาดกลางกุ้ง ซึ่งเป็นตลาดกุ้งเลี้ยง ไม่ใช่อาหารทะเลทั้งหมด หลังจากนั้นการระบาดเป็นวงเฉพาะในกลุ่มแรงงานเมียนมา และพบบางรายในบางจังหวัดที่มีความเชื่อมโยงกับแรงงานเมียนมา โดยขณะนี้ฝ่ายปกครองได้ล็อกดาวน์จุดที่พบผู้ติดเชื้อมากคือพื้นที่ตลาดกลางกุ้งและหอพัก ไม่ให้มีการเข้าออกแล้ว สมมุติฐานเรื่องสาเหตุของการระบาดในครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากแรงงานเมียนมา เพราะจากการค้นหาตรวจเชิงรุกพบว่าการติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 90 เป็นแรงงานเมียนมา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า น่าจะมีการเคลื่อนย้ายของแรงงานเมียนมาเข้ามาจากต่างประเทศในช่วงก่อนการระบาด และนำเข้ามาแพร่สู่ชุมชนเมียนมาที่มีอยู่เดิมแล้วในพื้นที่สมุทรสาคร อย่างไรก็ตามเพื่อพิสูจน์สมมุติฐานดังกล่าว จะได้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพิ่มเติมเพื่อดูรหัสพันธุกรรมว่ามีความเชื่อมโยงกับที่ไหน หรือกรณีใดบ้างต่อไป ส่วนสาเหตุที่ทำให้มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในกลุ่มแรงงานเมียนมานั้นค่อนข้างชัดเจนว่าเกิดจากการอยู่กันอย่างแออัดในที่พักอาศัย และมีการติดต่อใกล้ชิดกันจากชีวิตประจำวัน โดยไม่มีมาตรการป้องกันตนเอง เช่น การสวมหน้ากาก ล้างมือ
นายแพทย์วิชาญกล่าวต่อว่า จากการค้นหา ขีดวง เฝ้าระวัง ค้นหากลุ่มเสี่ยงทั้งหมดโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ทั้งใน จ.สมุทรสาคร และชุมชนแรงงานต่างด้าวในจังหวัดอื่น จะทำให้พบรายงานผู้ป่วยที่มีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้น และอาจมีข่าวพบผู้ติดเชื้อในหลายจังหวัด ซึ่งตามหลักระบาดวิทยาถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ว่าระบบเฝ้าระวังโรคของเราในทุกพื้นที่ ระบบเฝ้าระวังเชิงรุก และเจ้าหน้าที่กำลังทำงานกันอย่างเข้มแข็ง ทำให้ตรวจจับได้เร็ว ขอให้ประชาชนอย่าตระหนก แต่ให้ตระหนักในการป้องกันตนเอง มาตรการสำคัญที่จะต้องขอความร่วมมือจากประชาชน คือ สวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง ไม่เข้าสถานที่แออัด และสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการทางเดินหายใจ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้สวมหน้ากากอนามัยและไปพบแพทย์ ยกการ์ดให้สูง เพื่อไม่ให้ขยายการระบาดเป็นวงกว้าง ประชาชน จ.สมุทรสาคร และคนที่ออกมาจากจ.สมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ให้สังเกตอาการตนเอง หากสงสัยให้โทรปรึกษา สายด่วนของจังหวัดหรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ มีประวัติไปตลาดกลางกุ้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือเคยสัมผัสกับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงและไม่สบายด้วย สามารถเดินทางไปเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ที่โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน โดยแพทย์จะประเมินความเสี่ยงและพิจารณาส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้วแต่กรณี
“ขอให้ประชาชนตั้งสติ อย่าเชื่อข่าวปลอม อย่าส่งต่อ ให้ติดตามข้อมูลจากทางการ และดูว่าตัวเองเป็นผู้สัมผัสกลุ่มไหน เสี่ยงสูงหรือไม่ และปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัด หากเสี่ยงสูงไปรับการตรวจ เสี่ยงปานกลางปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อประเมินอาการ เสี่ยงต่ำสังเกตอาการตัวเอง 14 วัน และทุกกลุ่มต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ยกการ์ด100% ใช้ชีวิตแบบ New normal ใส่หน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ใช้ช้อนตัวเอง งดอยู่ในพื้นที่แออัด ผู้ประกอบการต้องมีการคัดกรอง และบังคับสแกน ไทยชนะ ทุกคน เพื่อช่วยติดตามตัว นอกจากนี้ โรงพยาบาลต้องเป็นสถานที่สวมหน้ากาก 100 เปอร์เซนต์ ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน ขอให้เข้มมาตรการตามข้อสั่งการ การ์ดอย่าตก” นายแพทย์วิชาญกล่าว
******************************** 21 ธันวาคม 2563
*********************************************************